อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ความงามทางธรรมชาติในอุดรธานี
ทำความรู้จักอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เตรียมเสนอชื่อเป็นมรดกโลกในอุดรธานี
สำหรับจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานตอนบนที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และ หลังจากที่มีข่าวเรื่อง รัฐเตรียมเสนอ ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นมรดกโลก วันนี้กระปุกดอทคอมไม่รีรอแวะไปรวบรวมเรื่องน่ารู้ให้เพื่อน ๆ ได้มาทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ในจังหวัดอุดรธานีให้มากขึ้น พร้อมเตรียมเสนอเป็นมรดกโลกในปี 2559 เร็ว ๆ นี้กันค่ะ
"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" หรือ "อุทยานแห่งชาติภูพระบาท" ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 3,430 ไร่ ในเขตหมู่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน ถือเป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ รวมทั้งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่าง ๆ กัน โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524 และได้พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในปัจจุบัน ซึ่งภายในอุทยานฯ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่งดังนี้...
"พระพุทธบาทบัวบก" อยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 คำว่า "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านเรียกว่า "ผักหนอก" บัวบกนี้จะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
"พระพุทธบาทหลังเต่า" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า "พระพุทธบาทหลังเต่า"
และไฮไลท์สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาชมให้ได้ คือ "หอนางอุสา" ต้นตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง นางอุสา-ท้าวบารส ที่ตั้งตระหง่านเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยมีลักษณะเป็นโขดหินลักษณะคล้ายรูปเห็ดตั้งอยู่บนลาน เกิดจากกัดกร่อนตามธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าในสมัยก่อนมีคนไปดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ของนางอุสา รวมทั้งมีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย ถ้ำ และเพิงหินต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ, ถ้ำโนนสาวเอ้, ถ้ำคน, ถ้ำวัวแดง (ถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน, รูปมือ, รูปสัตว์ และรูปลายเรขาคณิต)
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยว ภายในอุทยานฯ จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการข้อมูลตลอดจนแผนที่ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 4225 0616, 0 4225 1350 เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวชาวไทยราคา 10 บาท และชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท
การเดินทาง : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) กิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร
ที่มา: http://travel.kapook.com/view111213.html
ขอบคุณภาพจาก: http://travel.kapook.com/view111213.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น