วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ความงามทางธรรมชาติในอุดรธานี

ทำความรู้จักอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เตรียมเสนอชื่อเป็นมรดกโลกในอุดรธานี

            สำหรับจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานตอนบนที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และ หลังจากที่มีข่าวเรื่อง รัฐเตรียมเสนอ ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นมรดกโลก วันนี้กระปุกดอทคอมไม่รีรอแวะไปรวบรวมเรื่องน่ารู้ให้เพื่อน ๆ ได้มาทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ในจังหวัดอุดรธานีให้มากขึ้น พร้อมเตรียมเสนอเป็นมรดกโลกในปี 2559 เร็ว ๆ นี้กันค่ะ

            "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" หรือ "อุทยานแห่งชาติภูพระบาท" ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 3,430 ไร่ ในเขตหมู่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน ถือเป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ รวมทั้งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่าง ๆ กัน โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524 และได้พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในปัจจุบัน ซึ่งภายในอุทยานฯ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่งดังนี้...

            "พระพุทธบาทบัวบก" อยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477  คำว่า "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านเรียกว่า "ผักหนอก" บัวบกนี้จะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ  60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร  เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

             "พระพุทธบาทหลังเต่า" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า "พระพุทธบาทหลังเต่า"

             และไฮไลท์สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมาชมให้ได้ คือ "หอนางอุสา" ต้นตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง นางอุสา-ท้าวบารส ที่ตั้งตระหง่านเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยมีลักษณะเป็นโขดหินลักษณะคล้ายรูปเห็ดตั้งอยู่บนลาน เกิดจากกัดกร่อนตามธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าในสมัยก่อนมีคนไปดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ของนางอุสา รวมทั้งมีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย ถ้ำ และเพิงหินต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ, ถ้ำโนนสาวเอ้, ถ้ำคน, ถ้ำวัวแดง (ถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน, รูปมือ, รูปสัตว์ และรูปลายเรขาคณิต)

             สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยว ภายในอุทยานฯ จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการข้อมูลตลอดจนแผนที่ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 4225 0616, 0 4225 1350 เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวชาวไทยราคา 10 บาท และชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท

             การเดินทาง : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) กิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2  กิโลเมตร

ที่มา: http://travel.kapook.com/view111213.html
ขอบคุณภาพจาก: http://travel.kapook.com/view111213.html

สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี

สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี

จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ทริปนี้ จะพาไปสัมผัสธรรมชาติที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ 
สวนสาธารณะหนองประจักษ์ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนทั่วไปภายในบริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ มีพื้ินที่กว้างใหญ่ รวม 315 ไร่ ประกอบไปด้วย สนามเด็กเล่น สวนสุขภาพ ศาลาสำหรับพักผ่อน สวนพักผ่อน และมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สวยงาม รวมถึงไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงาที่ร่มรื่น
ประวัติความเป็นมา หนองประจักษ์ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี  เดิมเรียกว่า หนองนาเกลือ  เพื่อเป็นเกียรติแประวัติ แก่ พลตรีพระบรมวงศ์เธอกรมหลวง
ประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นหนองประจักษ์
ในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลนครอุดรธานี ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อม ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และได้มีการทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะ สวยงามมาก
ในแต่ละวันจะมีประชาชนไปพักผ่อนและออกกำลังกายภายในสวนสาธารณะหนองประจักษ์เป็นจำนวนนับว่าเป็นการบริหารจัดการที่ลงตัวของจังหวัดอุดรธานีที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนของประชาชนหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากภารกิจการทำงาน
นอกจากสวนสาธารณะหนองประจักษ์จะเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนของประชาชนทั่วไปแล้ว องค์กรหรือหน่วยงานต่าง จะใช้เป็นสถานที่จัดประเพณี หรือกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่นประเพณีงานลอยกระทง ที่มีการปล่อยโคมลอยดูยิ่งใหญ่มาก
อยู่ตรงหัวมุมใกล้แยกหนองประจักษ์
ความโดดเด่นของสวนสาธารณะหนองประจักษ์ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ และได้รับการพัฒนาจากเทศบาลนครอุดรธานี มีการปรับปรุงพื้นทำเป็นถนนรอบๆ บริเวณหนองประจักษ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ เดิน วิ่ง ออกกำลังกายของประชาชานทั่วไป 
ต่อมาได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆและมีเป็ดเหลืองลอยน้ำอยู่กลางสระน้ำด้วย

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วัดป่าบ้านตาด

วัดป่าบ้านตาด สถานที่ปฏิบัติธรรมของ หลวงตามหาบัว

หลังจากที่ "พระธรรมวิสุทธิมงคล" หรือ "หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน" ได้ละสังขาร เมื่อเวลา03.53 น. วันที่ 30 มกราคม 2554 ที่ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ขณะที่ญาติโยมและศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกสารทิศในประเทศที่ทราบข่าวต่างทยอยเดินทางมากราบสรีระ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่ วัดป่าบ้านตาด  เป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณ วัดป่าบ้านตาด แน่นไปด้วยผู้คนนับพัน อย่างไรก็ตาม หลายคนที่อ่านข่าวและอยากร่วมกราบสรีระหลวงตามหาบัว ที่ วัดป่าบ้านตาด และไม่เคยไป วัดป่าบ้านตาด จึงอยากรู้จักเส้นทางไป วัดป่าบ้านตาด และอยากทราบรายละเอียดของ วัดป่าบ้านตาด … วันนี้ขออาสาพาไปรู้จัก วัดป่าบ้านตาด สถานที่ปฏิบัติธรรมของ หลวงตามหาบัว กันค่ะ

ประวัติวัติวัดป่าบ้านตาด

       
วัดป่าบ้านตาด หรือ วัดเกษรศีลคุณ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดย วัดป่าบ้านตาด  ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ประมาณ 16 กิโลเมตร  ซึ่งหากมาตามทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-ขอนแก่น เมื่อรถวิ่งมาได้ประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณสี่แยกบ้านดงเค็ง ให้เลี้ยวไปทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดป่าบ้านตาด 
          วัดป่าบ้านตาด เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2498 หลังจากที่ชาวบ้านบริจาคที่ดินให้เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม พร้อมกับนิมนต์ให้ หลวงตามหาบัว มาพำนัก เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน หลังจากนั้น หลวงตามหาบัว จึงตกลงรับนิมนต์ชาวบ้านมาพำนักที่นี่เพื่อจะได้อยู่ดูแลโยมแม่ที่แก่ชรา พร้อมกับเริ่มสร้างและพัฒนา วัดป่าบ้านตาด และเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา และให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ แต่ชาวบ้านจะรู้จักและเรียกกันในนาม "วัดป่าบ้านตาด"  
          หลวงตามหาบัว ได้พัฒนาและทำให้ วัดป่าบ้านตาด กลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ชาวบ้านให้ความเคารพ เลื่อมใสเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อปี 2540 หรือช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ หลวงตามหาบัว เจ้าอาวาส วัดป่าบ้านตาด ได้จัดทำโครงการทองคำช่วยชาติ ขอบริจาคเงินและทองคำเข้าคลังหลวง เพื่อเยียวยาทุนสำรองของประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการลดค่าเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าว  หลังจากนั้นชื่อของ หลวงตามหาบัว และ วัดป่าบ้านตาด เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และก็มีญาติโยมและศิษยานุศิษย์ซื้อที่ดินถวาย หลวงตามหาบัว ให้สร้างเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน วัดป่าบ้านตาด มีเนื้อที่ประมาณเกือบ 300 ไร่   
          สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ วัดป่าบ้านตาด เต็มไปด้วยความร่มรื่นของธรรมชาติ เงียบ สงบ บริเวณรอบ ๆ มีทั้งต้นไม้เขียวชอุ่ม ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีต มีประตูเข้า-ออกเป็นประตูใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดออกมาทำร้ายชาวบ้าน เพราะที่ วัดป่าบ้านตาด มีสัตว์ป่านานาชนิด ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่สูง 2 ชั้น  ซึ่งด้านบนศาลานั้น คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานของวัด ทั้งยังใช้เป็นที่แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด และตู้ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านขวาขององค์พระประธานนั้น ก็คือ ที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้น ถูกใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า อันเป็นสถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นในแต่ละวัน
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อดีตเจ้าอาวาส วัดป่าบ้านตาด

พระอาจารย์สุดใจ ทนฺตมโน 
เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด แทนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน 

บนศาลา วัดป่าบ้านตาด

พระประธานบนศาลา วัดป่าบ้านตาด

      นอกจากนี้ภายในอาณาบริเวณ วัดป่าบ้านตาด ยังมีกุฏิถาวรอีกประมาณ 10 กว่าหลัง โดยเป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ซึ่งมาขออยู่พัก เพื่อปฏิบัติธรรมภาวนากันในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยสามารถพักได้ประมาณ 50 - 100 คน และได้ทำการจัดแยกเขตของพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ หลวงตามหาบัว ได้จัดให้มีการสร้างกุฏิของพระภิกษุสามเณรสำหรับอยู่เพียงองค์เดียว โดยเน้นเรื่องความเรียบง่าย สามารถใช้บังแดด ลม ฝน และป้องกันสัตว์อันตรายได้เท่านั้น  โดยทุกกุฏิจะมีทางสำหรับเดินจงกรม
กุฏิพระเณร วัดป่าบ้านตาด
 แม้วันนี้ หลวงตามหาบัว ได้ละสังขารไปแล้ว แต่คำสอนของท่านยังคงอยู่ในใจลูกศิษย์ทั้งหลายอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของความรักชาติที่ท่านได้เป็นต้นแบบให้หลาย ๆ คนได้ทำตาม ถ้าวันนี้ใครที่ต้องการเดินทางไปกราบคารวะหลวงตามหาบัว ก็อย่าแปลกใจหากไม่พบป้ายชื่อวัด เพราะนั่นคือ ปริศนาธรรม ที่หลวงตามหาบัวได้ฝากไว้ให้เราได้คิด ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดนี้....



การเดินทางไป วัดป่าบ้านตาด  

          1. เครื่องบิน  

               - มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบินดังนี้ 
                    1. เวลา 06.50 น. 
                    2. เวลา 12.30 น. 
                    3. เวลา 18.15 น. 
                - มีเที่ยวบินระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบินดังนี้ 
                    1. เวลา 08.40 น. 
                    2. เวลา 14.25 น. 
                    3. เวลา 20.05 น. 
          2. รถไฟ
               - มีการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตามเวลาดังนี้
                    1. เวลา 06.00 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย
                    2.  เวลา 08.20 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - อุดรธานี 
                    3. เวลา 18.30 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย
                    4. เวลา 20.00 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - หนองคาย 
                    5. เวลา 20.45 น. ขบวนรถด่วน กรุงเทพฯ - หนองคาย 
               - มีการเดินรถระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟอุดรธานี ตามเวลาดังนี้ 
                    1. เวลา 07.26 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ หนองคาย - กรุงเทพฯ 
                    2.  เวลา 09.15 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ 
                    3. เวลา 18.35 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ อุดรธานี - กรุงเทพฯ 
                    4. เวลา 19.04 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ 
                    5. เวลา 20.02 น. ขบวนรถด่วน หนองคาย - กรุงเทพฯ  
          หมายเหตุ : กรุณาตรวจสอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อนการเดินทาง 
          3. รถทัวร์  
               - มีรถบัสปรับอากาศออกจากบริษัททัวร์สายตะวันออกเฉียงเหนือหลายบริษัท ที่สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม 10900 
          หมายเหตุ : ก่อนเข้าเมืองอุดรธานี ให้ลงบนถนนใหญ่ที่มีป้ายว่า " บ้านคำกลิ้ง " จะมีรถ SKY LAB ( รถมอเตอร์ไซด์ที่มีรถพ่วงสำหรับผู้โดยสารนั่ง ) เข้าไปถึงวัดใช้เวลาเพียง 10 นาที 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก : 

ภูฝอยลม และวนอุทยานน้ำตกธารงาม

สถานที่ท่องเที่ยว ภูฝอยลม
ภูฝอยลม

ฝอยลม ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานน้อย ที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร อากาศเย็นสบายตลอดปี ชื่อของภูฝอยลมมาจากไลเคนชนิดหนึ่ง คือ "ฝอยลม"ซึ่งเคยพบเกาะอาศัยอยู่ตามกิ่งของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณนี้ แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากป่าถูกบุกรุกจนมีสภาพเสื่อมโทรม ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและ ให้เป็นที่ทัศนศึกษาของประชาชน ประกอบด้วยสวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี อุทยานโลกล้านปี มีหุ่นจำลองไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์แสดงซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ และมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติซึ่งจะได้พบป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง สลับป่าทุ่งหญ้า น้ำตกเล็ก ๆ และถ้ำ

อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน-ปะโค มีเนื้อที่ 192,350 ไร่ บนเทือกเขาภูพานน้อย เขตตำบลทับกุง ภูฝอยลมจัดเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีแปลงปลูกสาธิต บริเวณจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองอุดรธานี ภูฝอยลมมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว และสามารถตั้งแคมป์พักแรมได้ มีกิจกรรมเดินป่า 
    การเดินทาง หากเดินทางมาตามเส้นทางขอนแก่น-อุดรธานี เมื่อเลยอำเภอโนนสะอาดมาแล้วจะพบทางแยกซ้ายที่บ้านห้วยเกิ้งไปภูฝอยลม รถยนต์สามารถขึ้นถึงบนภูได้โดยสะดวก
    ใช้เส้นทางอุดรธานี-เลย เลี้ยวเข้าแยกบ้านเหล่ากิโลเมตรที่ 9

ฝอยลมสวัสดิการ ขับตรงเข้ามาตามถนนเรื่อยๆ ยังไม่เลี้ยวไปทางไหน เข้ามาติดต่อเรื่องที่พักก่อน ซึ่งการติดต่อที่พักตะติดต่อที่เดียวกันที่ร้านสวัสดิการ ด้านหน้าร้านประดับตกแต่งด้วยไม้ดอกหลายชนิดปลูกเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ดูคล้ายสวนสัตว์เป็นที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ที่เข้ามาเที่ยวบนภูฝอยลม


สวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี สวนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ได้รับ ความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะสามารถขับรถมาจอดแล้วเดินชมสวน หรือจะทานอาหารก็มีร้านสวัสดิการบริการ มีศาลาให้นั่งพักผ่อนนอกสวน
สวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี  ช่วงเดือนกรกฎาคม สวนแห่งนี้เต็มไปด้วยดอกกระเจียวทั้งสีขาวและสีชมพู ในช่วงเดือนธันวาคม ก็จะมีดอกทิวลิปบานให้ได้ชมกันในงานวันดอกทิวลิปบานที่ภูฝอยลม ส่วนช่วงอื่นๆ เราก็จะได้พบกับไม้ดอกอีกหลายชนิดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปลูกให้เราได้ชม ไม่เบื่อ





กังหันลมภูฝอยลม ในระหว่างเทศกาลงานทิวลิปบานที่ภู ฝอยลม มีการสร้างกังหันลมเพิ่มสีสันเข้าไปในสวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี แม้ว่างานทิวลิปบานได้ผ่านพ้นไปแล้ว กังหันลมนี้ก็ยังคงตั้งอยู่ให้เราได้เอามาใช้เป็นฉากสวยๆ ในการถ่ายรูปต่อไป

สถานที่พักผ่อน นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ภูฝอยลม ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาพักผ่อนแบบ ครอบครัว สวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี เป็นสถานที่แรกๆ ที่คนจะเข้ามาชมความสวยงามและพักผ่อนตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้างขวางมากๆ แต่ในเวลากลางวันจะแดดร้อน ส่วนหนึ่งในบริเวณสวนมีจุดสำหรับนักพักผ่อนหลบแดด เป็นต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีลานกว้างๆ ให้นั่งได้อย่างสบาย ร่มเงาของต้นไม้ทำให้ไม่ร้อนแดด แต่ที่ดีกว่านั้นคือกล้วยไม้หลากสีหลายพันธุ์ที่อยู่บริเวณโคนต้นไม้ ช่วยเพพิ่มสีสันระหว่างการนั่งหลบแดดของเราได้เป็นอย่างดี หากมีเสื่อมาปูเห็นทีว่าจะหลับได้อย่างรวดเร็ว


ร้านอาหารใกล้สวนรวมพรรณไม้

พุทธสถานภูฝอยลม  
จากสวนหย่อมข้างสนามกีฬา


จำลองมนุษย์ถ้ำภูฝอยลม ในระหว่างที่ป่ายปีนก้อนหินมุ่งหน้าลงเชิงเขา กลับไปยังอาคารค่ายเยาวชน ก็ต้องตกใจสุดขีดเพราะมีความรู้สึกว่ามองเห็นอะไรบางอย่างคล้ายคนแต่ตัวเป็น สีเขียวเข้มอยู่ใต้หลืบหิน พอมองดูให้ดีจึงได้รู้ว่าเป็นรูปปั้นที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองการดำรงชีวิตของ มนุษย์ถ้ำในอดีตที่ผ่านมา

จากจุดแสดงหุ่นจำลองมนุษย์ถ้ำ มีทางเดินลงไปเรื่อยๆ จนถึงเชิงเขา มีรูปปั้นสัตว์ต่างๆ มากมาย เป็นบริเวณที่เรียกว่าพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้เด็กๆ มาชมกัน รูปปั้นสัตว์เหล่านี้กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าโปร่ง เหมือนสวนสัตว์เปิดเลยครับ

พิพิธภัณฑ์ล้านปีภูฝอยลม



ชมดอกไม้สวยภูฝอยลม 


วนอุทยานน้ำตกธารงาม
   อยู่ในเขตป่าขุนห้วยสามพาด-ขุนห้วยกองสี อยู่ในท้องที่ตำบลหนองแสง กิ่งอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี อุทยานน้ำตกธารงามแบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม


วนอุทยานน้ำตกธารงาม ไม่มีบ้านพักไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตกับหัวหน้าวนอุทยานน้ำตกธารงามโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ขอบคุณภาพจาก : http://maneerut2330.blogspot.com/2013/01/blog-post_21.html

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง อุดรธานี

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง อุดรธานี

       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ
จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,822 - 4,600 ปี 
เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี





ซึ่งร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อาทิ เครื่องมือในการดำรงชีวิต และการสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ครอบคลุมไปถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง โดยมีหลักฐานอ้างอิงถึงการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นของมนุษย์มาหลายพันปี
           ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จึงเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (Unesco) ให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกอันดับที่ 359 ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็น "แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง" และนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก




 
 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีสถานที่ให้ชม 2 ส่วน คือ...
           ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่เป็นภาชนะเผาที่ฝังรวมกับศพที่กลายมาเป็นโครงกระดูกในปัจจุบันค่ะ

















ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้าเป็นอาคาร ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียงในอดีต ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณ รวมทั้งโบราณวัตถุ และนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแล้วค่ะ นอกจากนั้น ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่างอีกด้วยค่ะ




โดยส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวที่เดินทางจะเป็นนักโบราณคดีและบุคคลทั่วไป ที่ให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เพราะสถานที่แห่งนี้มีหลักฐานทางโบรณคดีต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงศิลปะการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์           นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ ทำจากวัสดุนานาชนิดที่ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมและเทคโนโลยี การขุดค้นที่บ้านเชียงยังพบกระดูกสัตว์ชนิดต่าง ๆ และเปลือกหอยด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจและอธิบายถึงวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยหลักฐานที่พบ คือ การขวานทำจากเหล็กและกระดูกควาย ก็สรุปได้ว่ามนุษย์รู้จักการทำนาในที่ลุ่ม และมีการไถนาแล้วเมื่อ ราวเกือบ 3 พันปีมาแล้ว รวมทั้งกระดูกสัตว์ต่าง ๆ และเปลือกหอยหลายชนิด โดยนักโบราณคดีสามารถจำแนกโครงกระดูกของสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่ถูกล่ามาเป็นอาการได้เลยจากหลักฐานดังกล่าวค่ะ
สำหรับใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปเที่ยวที่บ้านเชียง ลองแวะเข้าไปชมโบราณคดีที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ได้ทุกวันเลยค่ะ เผื่อไว้สำหรับวันหยุดพักผ่อนภายในครอบครัว
           อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
           ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
           โทรศัพท์ : 0 4220 8340 โทรสาร : 0 4220 8341
           เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวัน  เวลา 08.30-16.30 น.
           การเดินทาง
           การเดินทางไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีความสะดวก เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร สามารถเดินทางตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลู จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์แล้วล่ะค่ะ



ขอบคุณภาพจาก : http://travel.kapook.com/view57699.html
--------------------------------------------------------------------------------------------------